การฝึกอบรมหลักสูตร “หลักการทำงานร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1"

วันที่: 22-27 มิถุนายน 2558
สถานที่ฝึกอบรมสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ประเทศไทย
ผู้เข้ารับการฝึกอบรม: เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและรับผิดชอบชุมชน สังกัดส่วนบริหารจัดการประมงทะเล กองบริหารจัดการด้านการประมง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เพิ่มทักษะ เทคนิคและหลักในการทำงานร่วมกับชุมชนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน
2. เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถคิดวิเคราะห์ วางแผนดำเนินการ และติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ
3. เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทัศนคติ และประสบการณ์กับวิทยากรผู้มีความรู้ ความชำนาญด้านการทำงานร่วมกับชุมชน และผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วยกันเอง
4. เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่วิทยากรจากกรมประมงซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมมาก่อนหน้านั้น ได้ฝึกฝนในการถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางเชิงระบบนิเวศให้แก่เจ้าหน้าที่ในประเทศตนเอง

สรุปผลการดำเนินงานหลักสูตร
ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ร่วมมือกับกองบริหารจัดการประมงทะเล กรมประมง ได้จัดการฝึกอบรมในหลักสูตร หลักการทำงานกับชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน หลักสูตรนี้ประกอบด้วยวิทยากรจาก  SEAFDEC จำนวน 4 ท่าน คือ 1) น.ส. พนิตนาฏ ธาราดล 2) น.ส. รัตนา เตี้ยเย 3) นาย กฤษฎิ์ ภู่ศิริมงคล 4) น.ส. สายวสันต์ กลิ่นสุคนธ์ และวิทยากรจากกรมประมง 3 ท่าน ได้แก่ 1) นาย ธนัช ศรีคุ้ม 2) นายชลิต สง่างาม และ 3) นาย อกนิษฐ์ เกื้อเผือก และมีวิทยากรพิเศษ 6 ท่านคือ 1) คุณสัญชัย ตัณติวนิต 2) ดร. ยุทธนา เทพอรุณรัตน์ 3) นายอิสระ ชาญราชกิจ 4) นายสายัณห์ พรหมจินดา 5) นายไมตรี จงไกรจักร์ และ 6) นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์

ระยเวลาในการฝึกอบรมใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน โดยหัวข้อการนำเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางเชิงระบบนิเวศ นั้นใช้เวลา 5 วัน และหัวข้อเรื่อง การใช้จิตวิทยา เทคนิค และวิธีการ เพื่อการสื่อสาร โน้มน้าวให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถทำงานร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน ใช้เวลา 1 วัน ในวันสุดท้ายของการฝึกอบรม ผู้เข้าฝึกอบรมได้มีการนำเสนอแผนงาน EAFM โดยใช้เครื่องมือที่ได้จากการฝึกอบรมร่วมประกอบการนำเสนอ ทั้งนี้ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการฝึกการอบรม วิทยากร ได้ถูกแจ้งให้ผู้นำเสนอแผนงาน เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงในการวางแผนต่อไปในอนาคต
                สำหรับแผน EAFM ที่ใช้นำเสนอในครั้งนี้ประกอบด้วย 4 กลุ่ม โดยมีชื่อแผนงานคือ
1.             โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนประมง บ้านบางพัฒน์
2.             การบริหารจัดการการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา อ.สิงหานคร
3.             โครงการประมงต้นแบบอ่าวปัตตานี
4.             โครงการจัดการชุมชนประมงก้นปึก หาดแม่รำพึง

โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีจำนวนทั้งหมด 25 ท่าน เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดส่วนบริหารจัดการประมงทะเล สำนักบริหารจัดการประมง โดยมี 15 ท่าน มาจากฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ นครศรีธรรมราช (4),สงขลา (5) และปัตตานี (6); 8 ท่าน มาจากฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ (6), สตูล (1), และพังงา (1);  1 ท่าน จากฝั่งอ่าวไทยตอนบน (จ.ระยอง) และ 1 ท่านจาก กรุงเทพฯ ช่วงประสบการณ์การทำงานอยู่ระหว่าง 0-25 ปี ดังนั้น จึงเป็นข้อดีคือ ระหว่างหลักสูตรผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้ที่มีประสบการณ์น้อยสามารถเรียนรู้ได้จากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า และอาจจะมีความคิดหรือแนวคิดใหม่ๆจากเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก

จากการประเมินการจัดหลักสูตรพบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความพึงพอใจในรูปแบบหลักสูตร การจัดการหลักสูตร ทีมงานวิทยากร ตลอดจนคณะทีมงานผู้จัด และผู้เข้ารับการฝึกอบรมยังมีความต้องการให้คงรูปแบบหลักสูตรไว้ถ้าต้องมีการจัดหลักสูตรนี้ในรุ่นต่อๆไป และผลที่ได้จากการประเมินหลักสูตรยังพบว่า ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมมีเพียงจำนวน 24 ท่านโดยมี 1 ท่านติดภารกิจจึงทำให้ไม่สามารถเข้าทดสอบในวันสุดท้ายของหลักสูตรได้ พบว่าผลการทดสอบที่ได้คือ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนสามารถผ่านการทดสอบเมื่อวัดจากคะแนนในการทดสอบ 18 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 12.5 คะแนน จึงหมายความได้ว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความเข้าใจหลักการการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางเชิงระบบนิเวศ

นอกจากนี้แล้ว วิทยากรรับเชิญจากกรมประมงที่เข้าร่วมในหลักสูตรครั้งนี้จำนวน 3 ท่าน ได้รับการฝึกฝนทักษะด้านการสอน และเรียนรู้ถึงการจัดหลักสูตรอย่างครบถ้วน สำหรับทีมวิทยากรของ SEAFDEC ได้รับประสบการณ์ครั้งแรกสำหรับการสอนในหลักสูตร E-EAFM เป็นภาษาไทย จึงอาจกล่าวได้ว่าจากต้นฉบับของหลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตร Regional Training Course ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนสื่อการสอนเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้รับการฝึกอบรมสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: