วันพุธที่ 8 กันยายน 2553
วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
1. เพื่อให้ชาวประมงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรชีวิตและชีววิทยาของปูม้า
2. เพื่อส่งเสริมชาวประมงให้เข้าใจแนวทางในการอนุรักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรปูม้า รวมถึงการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ
3. เพื่อใช้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรู้ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงานของโครงการธนาคารปู รวมทั้งกระบวนการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง
กิจกรรมการฝึกอบรม
การฝึกอบรมการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 30 คน เป็นชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 13 บ้านท้องครก และผู้ที่สนใจจากหมู่บ้านอื่นๆ โดย ดร. ภัทรียา สวนรัตนชัย เป็นผู้กล่าวเปิดการฝึกอบรมและได้เชิญ คุณจินดา เพชรกำเนิด จากศูนย์วิจัยและพัฒนาอ่าวไทยตอนบน จังหวัดชุมพร เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับชีววิทยาปูม้า การเพาะฝักและการอนุบาลลูกปู ตั้งแต่การเลือกแม่ปูที่เหมาะสมสำหรับการเพาะฟักในธนาคารปู การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงแม่ปู ไปจนถึงการเตรียมแพลงค์ตอนพืช โรติเฟอร์ หนอนแดงและอาร์ทีเมีย เพื่อเป็นอาหารของลูกปู และขั้นตอนในการบรรจุลูกพันธุ์ปูเพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ นอกจากนี้คุณจินดา ยังได้กล่าวถึง สภาวะทรัพยากรปูม้าในบริเวณอ่าวท้องครก และความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้า หลังจากนั้น ดร.ภัทรียา ได้นำเสนอแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า โดยได้นำเสนอกรณีตัวอย่างของธนาคารปูจากที่ต่างๆ อาทิ ในจังหวัดชุมพร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเพชรบุรี โดยธนาคารปูในแต่ละที่จะมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้าในพื้นที่นั้นๆ แต่รูปแบบการดำเนินงานของธนาคารปูและกิจกรรมภายในกลุ่มของแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไป ทำให้ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้วิธีการในการจัดการและอนุรักษ์ปูม้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีคุณภิรมย์ สุทธิรักษ์ (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านท้องครก หมู่ 13) ได้ขึ้นมาบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของการทำประมงในหมู่บ้าน โดยเฉพาะลอบปู ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรปูม้าลดจำนวนลงอย่างมาก และได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า รวมทั้งได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาการลดลงของทรัพยากรปูม้าด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น