รายงานการฝึกอบรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)

ณ ศูนย์หมู่บ้านท้องครก หมู่ที่13 บ้านท้องครก ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร
วันที่ 29 กรกฎาคม 2552
ความเป็นมา
ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานฝ่ายฝึกอบรมศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรมประมงได้ดำเนินโครงการ การจัดการความร่วมมือการจัดการประมงชายฝั่งด้านการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการการจัดการชุมชนประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ซึ่งโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมการวางซั้งเชือก จำนวน 10 ชุด ในบริเวณเกาะคราม เกาะพิทักษ์ บ้านทองครก หมู่ที่ 13 หมู่ที่ 14 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยชาวประมงและคนในชุมชนมีความคิดเห็นว่า ถ้ามีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เกิดขึ้นในชุมชน จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และเนื่องด้วยชาวประมงมีความต้องการองค์ความรู้ในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดังกล่าว ดังนั้น จึงได้มีการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับชาวประมงในพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร

วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
1.เพื่อส่งเสริมชาวประมงให้มีความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบ
2.เพื่อสร้างเสริมทักษะให้กับชาวประมงในการประกอบอาชีพของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบ
3.เพื่อเป็นแนวทางเสริมในการประกอบอาชีพ และลดการลงแรงในการทำประมง

ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม กลุ่มชาวประมงและชาวบ้านที่สนใจ จำนวน 30 ท่าน
ตารางกิจกรรม
10.00 - 10.30 น. ลงทะเบียนและเปิดการประชุม
10.30 - 11.30 น. การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดย นายอุทัย วรมาศกุล
11.30 - 12.00 น. ตอบข้อซักถาม
12.00 - 13.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.30 - 14.30 น. การใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบ โดย นายทวีเกียรติ อมรปิยะกฤษฐ์
14.30 - 15.30 น. ตอบข้อซักถาม

รายงานผลการฝึกอบรม
1. เปิดการฝึกอบรม
โดย ดร.ภัทรียา สวนรัตนชัย หัวหน้าแผนกการจัดระบบการประมงของรัฐ กองการจัดการประมงชายฝั่ง ฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดการจัดการฝึกอบรมนี้ และเชิญ ผอ.อุทัย วรมาศกุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดชุมพร มาบรรยายในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการบรรยายในเรื่อง การใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบในบริเวณซั้งเชือก โดย ดร.ทวีเกียรติ อมรปิยะกฤษฐ์ หัวหน้าแผนกส่งเสริมทรัพยากรการประมง กองการจัดการประมงชายฝั่ง และจะมีการตอบข้อซักถามในตอนท้ายของการบรรยาย

2. การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
โดย ผอ.อุทัย วรมาศกุล กล่าวถึงความเป็นมาของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และองค์ประกอบสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว โดยชาวบ้านในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบของการท่องเที่ยว
นอกจากนี้กล่าวถึงธนาคารปูในจังหวัดชุมพร ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในการใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ศึกษาดูงานและให้ความรู้ในส่วนนี้ได้ โดยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ที่สำคัญ และในด้านของมัคคุเทศก์ควรมีการจัดฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ โดยส่วนนี้อาจจะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐได้


3. การใช้ทรัพยากรประมง อย่างรับผิดชอบในบริเวณซั้งเชือก
โดย ดร.ทวีเกียรติ อมรปิยะกฤษฐ์ โดยเริ่มจากวัตถุประสงค์ของซั้งเชือก หลังจากนั้นได้นำเสนอรูปภาพและวีดีโอตั้งแต่การทำซั้งเชือก จนกระทั่งนำซั้งเชือกออกไปวางในบริเวณชายฝั่ง รวมถึงปัญหาและข้อบกพร่องของซั้งเชือก และได้แนะนำให้ชาวประมงดัดแปลงซั้งเชือกโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งจะทำให้ราคาต้นทุนของซั้งเชือกต่ำลง และได้ยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการกำหนดโควต้าการตกปลาในบริเวณซั้ง คือ จำนวนเบ็ดใน 1 สาย ต้องอยู่ระหว่าง 10-12 ตัว และความถี่ในการไปตกปลาไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออวนในบริเวณซั้งเชือก และไม่ควรวางซั้งเชือกในพื้นที่ที่กีดขวางการเดินเรือหรือทำประมง ส่วนขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ ควรนำมากำจัดบนบก และควรมีการเพิ่มทุ่นเมื่อซั้งเชือกเกิดการจมตัว

4. การแสดงความคิดเห็นและตอบข้อซักถาม
หลังจบการบรรยายได้มีการซักถามและแสดงความคิดเห็นจากชาวบ้านต่อผลของการวางซั้งในพื้นที่ เกาะครามและเกาะพิทักษ์ ระยะเวลานาน 5 เดือน (จัดวางในวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2552) ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ทุ่นผิวน้ำ 6 ลูก มีขนาดเล็กเกินไป ไม่เพียงพอที่จะพยุงซั้งเชือกให้ลอยตัวอยู่ได้นาน เนื่องจากมีสิ่งเกาะติดจำนวนมาก
2. มีสัตว์น้ำเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จำนวนชนิดหลากหลายมากขึ้น
3. ส่งเสริมอาชีพและรายได้ของชาวประมง
4. ชาวประมงมีโครงการที่จะเพิ่มเติมแนววางซั้งให้ไกลออกไปถึง 5,000 เมตร เพื่อเป็นแนวป้องกันการรุกล้ำเข้ามาของเรือประมงพาณิชย์ด้านนอก และจะให้ทางจังหวัดประกาศเป็นเขตเฉพาะ โดยชาวประมงจะรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างกลุ่มให้เข้มแข็งและช่วยกันปกป้องพื้นที่ชายฝั่ง
5.ชาวประมงมีแผนที่จะวางซั้งในแนวน้ำตื้นน้อยกว่า 5 เมตรด้วยเช่นกัน โดยดัดแปลงซั้งให้เหมาะสมกับความลึกของน้ำ เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำใกล้ชายฝั่งมากขึ้น ทั้งนี้เบื้องต้นจะใช้เป็นแหล่งตกปลาสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ ในบริเวณอ่าวทองครก และเกาะพิทักษ์
6.ชาวประมงมีความคิดเห็นพ้องกันว่าซั้งเชือกช่วยในการเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทั้งผิวน้ำและหน้าดินได้เป็นอย่างดี ส่งเสริมความร่วมมือของชาวประมงในการทำงานร่วมกัน การปกป้องพื้นที่และเสริมรายได้ของชาวประมงนอกเหนือไปจากเครื่องมือประมงที่ใช้เป็นประจำ
7. มีหอยแมลงภู่ หอยมุกจาน และสิ่งเกาะติดอื่นๆ เกิดขึ้นบริเวณเนื้ออวนกระโปรงจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีน้ำหนักมากและอยู่ลึก ทำให้ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ หรือนำออกเพื่อลดน้ำหนักของซั้งได้

ไม่มีความคิดเห็น: